8 พฤษภาคม เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี ในส่วนของหน้ารายชื่อคณะรัฐมนตรี ได้ถูกแฮกเกอร์กลุ่มหนึ่ง ทำการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งและรูปภาพของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมทั้งยังมีการพบข้อความที่มีเนื้อหาด่าทอนางสาวยิ่งลักษณ์ ต่อมากระทรวงไอซีที ก็ได้มีการตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าว และทำการลบข้อความออก พร้อมมีการระบุด้วยว่าโทษจากการโพสต์ข้อความว่าร้ายผู้อื่นให้เกิดความเสียหายทางเว็บไซต์จะเข้าข่ายมีความผิดข้อหาหมิ่นประมาท มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ต่อมา น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ตามกระบวนการหากมีเว็บไซต์ใดๆ ของหน่วยงานรัฐโดนแฮ็กระบบ ทางไอซีทีและกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จะทำการตรวจสอบหลักฐาน และจะมีการสืบค้นว่าถูกแฮ็กจากที่ใด จึงต้องใช้เวลาเช่นเดียวกับการหาหลักฐานเหตุอาชญากรรม
จากการกระทำในข้างต้น ผู้กระทำการดังกล่าว มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ใน 2 มาตรา ได้แก่...
มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้น มิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่าหากเราใช้ความรู้หรือความสามารถทางเทคโนโลยีที่เรามีไปใช้ในทางที่ผิด ย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนกับตัวเราเองและคนอื่นได้ง่ายๆ รวมทั้งเมื่อใช้สื่อออนไลน์ครั้งใด ควรตรวจสอบถึงความเหมาะสมในการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ ว่าจะส่งผลเสียกับผู้อื่นหรือไม่ เพียงแค่นี้เราก็จะใช้เทคโนโลยีต่างๆได้อย่างสบายใจรวมทั้งได้รับประโยชน์มากมายจากการใช้สื่อหรือสังคมออนไลน์ต่างๆ แถมยังไม่ทำให้ผู้อื่นหรือคนรอบข้างเดือดร้อนอีกด้วย
ที่มา : http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000055161